หลังจากเชื้อไวรัสตั้งต้น (Seed Virus) จากรัสเซียเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม สื่อมวลชนก็เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 เข็มแรกจากฝีมือคนไทยจะผลิตเสร็จเมื่อไร และจะนำมาฉีดให้ประชาชนได้ทันท่วงที ก่อนที่ไวรัสมฤตยูตัวนี้จะแพร่ระบาดไปทุกหมู่บ้านหรือไม่
ขณะนี้ "เชื้อไวรัสตั้งต้น" ได้รับการดูแลอย่างดีในกล่องเก็บอุณภูมิเย็นจัดถึง -20 องศาเซลเซียส ภายในห้องปลอดเชื้อของโรงงานต้นแบบผลิตวัคซีน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม สาเหตุที่ต้องเก็บเข้าตู้แช่แข็งไว้ก่อนก็เพราะต้องรอให้ "ไข่ไก่ฟักปลอดเชื้อเฉพาะ" ที่สั่งซื้อจากเยอรมนี 350 ฟองค่อยๆ ฟักตัวจนได้ที่ก่อน น่าจะใช้เวลา 7-10 วัน จากนั้นจึงจะถึงขั้นตอนการเพาะขยายเชื้อไวรัสให้เป็นวัคซีนอย่างสมบูรณ์แบบ
 ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ที่ปรึกษางานวิจัยวัคซีนไข้หวัดข้ามสายพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า ในโลกนี้แบ่งวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็น 2 ชนิดใหญ่ คือ ชนิดที่ผลิตจาก "ไวรัสเชื้อเป็น" และ "ไวรัสเชื้อตาย" หรือที่ทางวิชาการแพทย์เรียกว่า วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ใช้วิธีพ่นผ่านจมูกเข้าไปยังระบบทางเดินหายใจ กับวัคซีนเชื้อเป็น (Live attenuate vaccine) ใช้วิธีฉีดเหมือนวัคซีนทั่วไป
 สำหรับเชื้อที่ได้มาจากรัสเซียเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอช1 เอ็น1 ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือ "ไวรัสเชื้อเป็น" โดยนักวิทยาศาสตร์จากรัสเซียได้ใช้วิธีโคลด์อแดป (cold-adapted) หรือทำให้ไวรัสอยู่ได้ในอุณหภูมิต่ำกว่า -10 องศาเซลเซียส ซึ่งวิธีการทำนี้เป็นองค์ความรู้เฉพาะและเป็นลิขสิทธิ์ของแต่ละองค์กร มีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถทำได้ เชื้อไวรัสที่ผ่านขบวนการโคลด์อแดปมาแล้ว ต้องนำมาเพิ่มเชื้อในไข่ไก่ฟักปลอดเชื้อ แล้วทดลองจนปลอดภัย ก่อนจะนำมาทำเป็นวัคซีนให้คนทั่วไป
 เมื่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่เชื้อเป็นถูกพ่นเข้าไปในมนุษย์ เชื้อไวรัสเจอกับอุณหภูมิร่างกายจะเจริญเติบโตได้ในระดับหนึ่ง แต่เชื้อไวรัสจะอ่อนมากจนไม่สามารถทำให้ร่างกายเป็นโรค ทำได้เพียงกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
 ส่วนวัคซีนเชื้อตายจะนำเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 มาผ่านกระบวนการทำให้ส่วนประกอบไวรัสแยกตัว จนไม่เหลืออันตราย และไม่สามารถแบ่งตัวหรือเพิ่มจำนวนได้ในร่างกายมนุษย์ แต่ต้นทุนสูงกว่ามาก เพราะต้องใช้ไข่ไก่ปลอดเชื้อจำนวนมากในการผลิต
 "ข้อดีของไวรัสเชื้อเป็นคือหากมีเชื้อไวรัสตั้งต้นเพียงนิดเดียว ใส่ในไข่ปลอดเชื้อ 1 ฟองอาจเพิ่มปริมาณได้มากเป็นสิบเท่า แต่ข้อเสียคือวัคซีนที่ใช้ไวรัสเชื้อเป็นไม่ค่อยนิยมแพร่หลาย ผลข้างเคียงก็อาจเกิดได้มากกว่า ส่วนข้อดีของวัคซีนเชื้อตายคือมีความปลอดภัยสูง เพราะเชื้อไวรัสตายแล้วไม่เพิ่มจำนวนให้เกิดอันตราย และใช้วิธีฉีดที่คุ้นเคย ส่วนข้อเสียคือต้องใช้ไข่ปลอดเชื้อจำนวนมาก วัคซีน 1 โดสอาจต้องใช้ไข่ไก่ 1 ฟอง และการผลิตก็ทำได้ช้ากว่าวัคซีนเชื้อเป็น" ศ.ดร.วันเพ็ญ กล่าว
 ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยาและวัคซีน ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ผลิตไวรัสต้นแบบสำหรับพัฒนาเป็นวัคซีนเชื้อตาย ที่ได้เชื้อไวรัสตั้งต้นมาจากผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 คนแรกของไทย
 "ตอนนี้พัฒนาวัคซีนเบื้องต้นสำเร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนให้สัตวแพทย์ทดลองฉีดเข้าไปในตัวเฟอร์เร็ต สัตว์ทดลองที่อยู่ในตระกูลเดียวกับอีเห็น เพื่อสังเกตดูว่าไวรัสสามารถก่อให้เกิดอาการ เช่น มีไข้ตัวร้อน หรือน้ำมูกไหล ในตัวเฟอร์เร็ตหรือไม่ หากดูอาการ 7 วันแล้วยังเป็นปกติ ก็จะให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 เข้าไปในเฟอร์เร็ตตัวเดียวกัน เพื่อดูว่าวัคซีนทำงานได้ผลหรือไม่ หากได้ผลก็จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปทดลองในมนุษย์"
 ช่วงนี้คงต้องลุ้นระทึกว่าเชื้อไวรัสหวัดใหญ่ 2009 ที่เป็นของคนไทย เมื่อนำมาผลิตวัคซีนแล้วจะได้ผลอย่างไร หากการทดลองครั้งนี้ประสบความสำเร็จ จะกลายเป็นผลงานเยี่ยมยอดของนักวิจัยไทยอีกชิ้นหนึ่ง !?!
 วัคซีนแบบเชื้อเป็นและเชื้อตาย ต่างก็มีข้อดีและข้อเสีย แต่สิ่งที่ ดร.อนันต์แสดงความเป็นห่วงคือ วัคซีนเชื้อเป็นที่ใช้วิธีพ่นผ่านจมูกเข้าร่างกาย ปัจจุบันมีเพียงสหรัฐอเมริกาและไม่กี่ประเทศในโลกที่นำไปใช้ ส่วนประเทศไทยยังไม่ได้ใช้ สาเหตุอาจมาจาก
 1.กลัวว่าเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่ อาจจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง กลับมาเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคได้
 2.หากวัคซีนเชื้อเป็นถูกพ่นใส่เข้าไปในร่างกายประชาชนหลายสิบล้านคนในเวลาใกล้เคียงกัน อาจทำให้เชื้อไวรัสเอช1 เอ็น1 ในร่างกายมนุษย์กลายพันธุ์ไปผสมกับเชื้อไวรัสชนิดอื่น เช่น เอช3 เอ็น2 หรือ เอช5 เอ็น1 ที่มีอยู่ในธรรมชาติ จนกลายเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ 
 3.ผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เอดส์ หอบหืด หรือผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง อาจจะไม่สามารถใช้วัคซีนแบบเชื้อเป็นได้ เพราะเกรงว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสที่พ่นเข้าไปร่างกาย
 ส่วนข้อดีนั้นนักวิจัยวัคซีนยอมรับว่า ประสิทธิภาพของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสจะดีกว่า เพราะเป็นเชื้อไวรัสจริงๆ เมื่อร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ในอนาคตหากเจอเชื้อไวรัสตัวเดียวกันอีก ร่างกายจะจำได้และสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ มาต่อต้านทันที นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตได้รวดเร็วในราคาที่ประหยัด เหมาะสมกับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดหนักไปทั่วโลก
 ขณะที่ อดีต รมว.สาธารณสุข นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล ได้ส่งข้อมูลไปยังสื่อมวลชน แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเร่งผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ว่า เชื้อไวรัสร้ายที่กำลังคร่าชีวิตคนทั่วโลกขณะนี้ อาจกลายพันธุ์เป็นไวรัสชนิดร้ายแรงกว่าเดิม เหมือนที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต เมื่อองค์ความรู้เรื่องเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังไม่ตกผลึก ก็ไม่ควรเร่งรีบผลิตวัคซีนต้นแบบฉีดให้ประชาชนคนไทย ควรศึกษาวิจัยประสิทธิผลให้รอบคอบ
 ทั้งนี้ เมื่อ 30 กว่าปีก่อนเคยมีบทเรียนจากอเมริกา ที่รีบร้อนผลิตวัคซีนไข้หวัดหมู (Swine flu) เมื่อปี 2519 แล้วฉีดให้ชาวอเมริกันปรากฏว่ามี 33 รายเสียชีวิตจากวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพ และอีก 500 รายเป็นอัมพาตจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Gullain-Barre) รัฐบาลอเมริกันถูกประชาชน 1,571 ราย เรียกร้องค่าเสียหายถึง 3.5 หมื่นล้านบาท
 สรุปคือ "วัคซีน" เป็นเพียงหนึ่งในระบบการป้องกันร่างกายติดเชื้อไวรัสร้าย ถือเป็นทางเลือกไม่ใช่ข้อบังคับ สำหรับผู้ที่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีการแพทย์ ก็รออีกไม่เกินสิ้นปี 2552 คงได้ทดลองพ่นหรือฉีดเข้าร่างกาย ส่วนผู้ที่ยังไม่มั่นใจก็อดใจรออีกระยะหนึ่ง เชื่อว่าไม่เกิน 1 ปี รายละเอียดทุกแง่มุม ทั้งข้อดี ข้อเสีย หรือผลข้างเคียงจากผู้รับวัคซีนหวัดใหญ่ 2009 กลุ่มแรกๆ จะถูกรายงานผ่านสื่อมวลชนทั่วโลกอีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติมที่  http://www.oknation.net/blog/bypunnee/category/H1N1